ความรู้เกี่ยวกับสายพาน PVC/PU

ตอน 3 การต่อสายพาน PVC /PU

1.ประเภทการต่อสายพาน PVC /PU


ประเภทการต่อสายพาน PVC /PU


สายพานลำเลียงโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เป็นสายพานพลาสติกที่ถือว่าเป็นสายพานไลท์เวท (Lightweight) ทำงานเบาๆทั่วไป มีผ้าใบใยสังเคราะห์เป็นแกนรับแรงดึง(Tension Member) หุ้มด้วยพลาสติกพีวีซี(PVC Cover) แกนเส้นใยสังเคราะห์ที่ใช้ได้แก่ โพลีเอสเตอร์ ไนลอน คาร์บอนไฟเบอร์ และอื่นๆ สายพาน PVC ใช้งานทั่วไปจะมีชั้นผ้าใบ 1 ถึง 3 ชั้น(หากมากกว่านี้ถือว่าเป็นการใช้งานแบบพิเศษ) โดยแต่ละชั้นผ้ามีความหนา 0.5 ~ 0.8 มม. พีวีซีเป็นที่ยอมรับในด้านความทนทานและใช้งานง่ายราคาถูก ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งการขนถ่ายวัสดุทั้งแบบ Unit load และ Bulk Load ตลอดจนใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร แปรรูปอาหาร แปรรูปเนื้อสัตว์ ปลา ผลิตภัณฑ์นม และผลิตเบเกอรี่


ประเภทสายพาน PVC /PU ที่นำมาต่อได้


ชนิดของรอยต่อสายพานมี 3 แบบคือ

1.แบบต่อร้อน(Hot Splice) คือ แบบที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษช่วยในการต่อสายพาน มีข้อดีคือหลังจากต่อแล้วใช้งานได้ทันที รอยต่อจะมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดี ข้อเสียก็คือต้องใช้เครื่องมือและช่างที่ชำนาญการในการต่อสายพาน สายพาน PVC /PU เป็นสายพานที่ทำด้วยวัสดุเทอร์โมพลาสติกสามารถอ่อนตัวหรือละลายได้เมื่อถูกความร้อนและกลับคืนสู่ของแข็งเมื่อเย็นตัว กระบวนการนี้สามารถทำซ้ำได้และไม่เปลี่ยนลักษณะทางเคมีของพอลิเมอร์ เราจึงสามารถนำประโยชน์จากคุณสมบัติข้อนี้มาใช้ในการต่อสายพานแบบต่อร้อน

2.แบบต่อเย็น (Cold Splice) คือการใช้กาวในการประสานให้ปลายทั้งสองข้างของสายพานติดแน่นเข้าด้วยกัน ข้อดีคือต่อได้ง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือและช่างที่ชำนาญการเฉพาะ ข้อเสียคือต่อเสร็จแล้วต้องรอประมาณ 4 ชั่วโมงให้สารเคมีเกิดปฏิกิริยาให้สมบูรณ์ก่อนรอยต่อสายพานถึงจะแข็งแรงใช้งานได้ ความแข็งแรงของรอยต่อแบบเย็นจะสู้การต่อแบบต่อร้อนไม่ได้

3.แบบวิธีกล (Mechanical Fastener) มีคือการต่อด้วยกิ๊ป ข้อดีคือ ต่อง่ายใครๆก็ทำได้ไม่ต้องไปรื้ออุปกรณ์คอนเวเยอร์ออก หากสายพานสั้นก็สามารถ insert ให้ยาวขึ้นได้ง่ายๆ Mechanical Fastener มี 3 แบบคือแบบ Hook Fastener , Clamp fastener และ Plastic Fastener ข้อเสียคือรอยต่อไม่เรียบ สายพานอาจจะสะดุดขณะทำงานและช่วงรอยต่อจะมีช่องว่างทำให้วัสดุที่เป็นผงหรือก้อนวัสดุลำเลียงขนาดเล็กร่วงหลุดลงไปได้


สเปคของ (Mechanical Fastener) บางรุ่น


2.เลือกประเภทการต่อสายพานประเภทไหนดี

เมื่อรู้ข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดของการต่อสายพานแต่ละประเภทแล้ว การพิจารณาว่าจะใช้การต่อสายพานแบบไหนดีมีหลักอยู่ 3 เรื่องคือ

1.ชนิดของสายพาน เช่น มีกี่ชั้น หนาเท่าไหร่ Tension Member เป็นแบบไหน

2.สายพานทำงานหนัก งานเบาหรือใช้งานชั่วคราวหรือต่อเสร็จจะใช้งานทันที

3.เงื่อนไขหน้างานและสิ่งแวดล้อมในการใช้งานว่าจะใช้รอยต่อแบบทั่วไปหรือต้องการรอยต่อชนิดที่แข็งแรงพิเศษ หรือมีอุปสรรคที่ทำให้การต่อบางประเภททำไม่ได้หรือไม่

เมื่อพิจารณาเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้แล้วให้พิจารณาร่วมกับคุณสมบัติของรอยต่อสายพานหลังจากที่ต่อเสร็จแล้ว เช่นความแข็งแรงของรอยต่อ การยืดหยุ่นตัวของรอยต่อแล้วจึงตัดสินใจว่าจะเลือกการต่อสายพานด้วยประเภทไหนดี


3.เลือกการต่อสายพานแบบ ต่อกลม(Endless) หรือตัดยาว(Open) ดี

เมื่อลูกค้าตัดสินใจว่าจะต่อสายพานประเภทใดแล้วก็สามารถแจ้ง service provider ให้ทำงานตามที่ต้องการได้ โดยการต่อปลายสายพานทั้งสองข้างให้ติดกันสามารถทำได้ 2 แบบคือ แบบแรกลูกค้าสามารถแจ้งผู้ขายบอกว่าต้องการต่อแบบกลม (Endless) จากโรงงานแจ้งความยาวเท่าไหร่ผู้ขายก็จะทำการต่อมาให้เป็นรูปวงกลมตามความยาวที่ระบุนั้น อีกแบบหนึ่งคือลูกค้าต้องการ ซื้อสายพานมาเก็บสต๊อกสำหรับต่อที่หน้างานในกาณีฉุกเฉิน ต้องแจ้งผู้ขายว่าต้องการสายพานแบบตัดยาว(Open) ความยาวเท่าไหร่ก็แจ้งไป ซึ่งต้องเผื่อสายพานไว้บ้างนิดหน่อยสำหรับรอยต่อหรือสำหรับให้เครื่องมือมีที่ว่าง(ระยะ)ที่จะใช้ในการต่อที่หน้างานได้

การต่อกลม (Endless)มาจากผู้ขาย ข้อดีก็คือรอยต่อมีคุณภาพและความแข็งแรงดีที่สุด เนื่องจากที่โรงงานสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมในการต่อได้ดี ดังนั้นคุณภาพของรอยต่อจึงมีคุณภาพที่ให้ความแข็งแรงสูงสุดและราคาถูก ข้อเสียคือเมื่อผู้ใช้งานมีความยุ่งยากที่ต้องรื้ออุปกรณ์คอนเวเยอร์ที่หน้างานออกเพื่อประกอบสายพานเข้าในไลน์ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เข้าไปใหม่และ Test Run อีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นการเสียเวลา

การต่อที่หน้างาน หมายความว่าเราเรียกใช้บริการของ service provider จากข้างนอกให้มาต่อสายพานให้ ข้อดีก็คือเราไม่ต้องรื้ออุปกรณ์อะไรของคอนเวเยอร์ออกมาเลย ต่อเสร็จใช้งานได้ทันที service provider จะเป็นผู้ต่อสายพานและTest Run ให้เรียบร้อยก่อนส่งมอบงาน ส่วนข้อเสียก็คือมีราคาแพงเพราะว่า service provider จะต้องเสียเวลาในการเดินทางมาหน้างานพร้อมด้วย เครื่องมือและช่างเทคนิคที่มาด้วย ข้อเสียต่อมาก็คือต้องรอคิว service provider จากภายนอก หากไม่ว่างจะทำให้คอนเวเยอร์หยุดทำงานซึ่งมีผลกระทบกับ process การทำงานของระบบอื่นๆทีอยู่ต่อเนื่องกันไป

การต่อแบบวิธีกล(Mechanical Fastener) มีข้อดีคือไม่ต้องไปรื้ออุปกรณ์คอนเวเยอร์ออก หากสายพานสั้นสามารถ insert สายพานให้ยาวเพิ่มขึ้นได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง กิ๊ปมี 3 แบบคือแบบ Hook Fastener , Clamp fastenerและ Plastic Fastener ข้อเสียคือรอยต่อไม่เรียบ สายพานอาจจะสะดุดขณะทำงานและช่วงรอยต่อจะมีช่องว่างทำให้วัสดุที่เป็นผงหรือก้อนวัสดุลำเลียงขนาดเล็กร่วงหลุดลงไปได้


4.รูปแบบการต่อสายพาน

รูปแบบของรอยต่อแบ่งออกเป็น 4 แบบคือ

1.ต่อแบบตัว Z-Splice หรือบางครั้งก็เรียก Finger Splice การต่อสายพานแบบนี้สามารถต่อได้ทุกประเภทสำหรับสายพานที่มีความหนาเท่ากัน รอยต่อที่ได้มีความแข็งแรง ยืดหยุ่นดี ใช้ได้กับสายพานที่มีชั้นผ้าใบ 1 หรือ 2 ชั้น และ สายพาน Knife Edge ก็ใช้ได้ดีการต่อแบบนี้ต่อชน 90องศาได้


ต่อแบบตัว Z-Splice หรือบางครั้งก็เรียก Finger Splice



Standard การต่อแบบตัว Z-Splice (Finger Splice)


2.ต่อแบบ Stepped Z-Splice บางครั้งก็เรียกการต่อสายพานแบบฟันปลา 2 ชั้น ใช้ในสายพานที่ต้องการแรงดึงสูง ใช้กับสายพาน 2 ชั้นหรือ 3 ชั้น ต่อชน 90 องศาได้


ต่อแบบ Stepped Z-Splice


3.ต่อแบบ Wedge Splice การต่อแบบรูปลิ่มโดบปาดสายพานให้เป็นรุปลิ่มทั้งสองปลายแล้วนำมาต่อโดยการประกบปลาย ใช้สำหรับต่อสายพาน PVC ชนิด solid Woven ต่อชน 90 องศได้


ต่อแบบ Wedge Splice


4.ต่อแบบ overlap splice เหมาะสำหรับต่อสายพานที่มีชั้นผ้าใบ 2 หรือ 3 ชั้น ต่อชน90 องศาได้


ต่อแบบ Wedge Splice



Standard การต่อแบบ overlap splice


5.ความยาวที่น้อยที่สุดที่สามารถต่อกลม (Endless) ได้

ในการต่อสายพานให้เป็นวงกลมจะต้องใช้เครื่องมือซึ่งต้องการระยะสำหรับที่จะเซ็ตเครื่องให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมจึงจะสามารถต่อสายพานได้ ดังนั้นสายพานจะต้องมีความยาวที่เพียงพอจึงจะสามารถนำปลายมาต่อกันได้ ความยาวของสายพานที่น้อยที่สุดที่จะสามารถนำมาต่อกลมได้ขึ้นอยู่กับหน้ากว้างของสายพาน


ความยาวที่น้อยที่สุดที่สามารถต่อกลม (Endless) ได้


6.ทิศทาง (Direction)ของรอยต่อสายพาน

ก่อนประกอบสายพานเข้าไลน์คอนเวเยอร์ผู้ทำงานจะต้องทราบเทคนิคบางประการเพื่อให้รอยต่อของสายพานทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่สะดุด และมีความแข็งแรง ผู้ประกอบต้องสังเกตดูว่าอุปกรณืที่อยู่รอบๆของคอนเวเยอร์มีอะไรบ้างเช่น ถ้าคอนเวเยอร์มีตัวทำความสะอาดสายพาน ( Belt Cleaner) หรือแปรงทำความสะอาด (Brush Cleaner) หรือสายพานทำงานแบบ การสะสม (Accumulation) ถ้าเป็นตัวอย่างดังกล่าวนี้ ทิศทางของรอยต่อจะต้องเอียงลงเมื่อดูจากผิวบนของสายพาน เพื่อไม่ให้ขูดกับตัวทำความสะอาดหรือขูดกับผิวล่างของกล่องซึ่งจะทำให้รอยต่อเปิดและฉีกขาดได้ง่าย


รอยต่อจะต้องเอียงลงเมื่อดูจากผิวบนของสายพาน


หรือกรณีคอนเวเยอร์ทำงานแบบ Knife Edge หรือปลายที่มีขนาดเล็ก ทิศทางของรอยต่อจะต้องอยู่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น


รอยต่อจะต้องเอียงขึ้นเมื่อดูจากผิวบนของสายพาน


7.เครื่องมือในการต่อสายพาน


เครื่องมือให้ความร้อน(Heat) ใช้ในโรงงาน



เครื่องมือให้ความร้อน(Heat) แบบ Air Cool ใช้ต่อที่หน้างาน


เครื่องมือทำ Finger ขนาดใหญ่ใช้ในโรงงาน



ปลายสายพานทำ Finger



เครื่องมือทำ Finger แบบพกพา (Portable)



เครื่องมือแยกชั้นสายพาน (Ply Separator)


Visitors: 75,106