ถอดรหัสสายพานทนสึก

สายพานทนสึก (Wear Resistance Belt)


ภาพรวมการเลือกเกรดและความหนาของสายพาน


ตอนนี้เป็นเรื่องของผิวสายพานทนสึกล้วนๆเราจะพูดถึงเนื้อหาในวงกลมสีแดงนะครับ สายพานทนสึก(Wear Resistance Conveyor Belt) หรืออีกอยางหนึ่งจะเรียกว่า สายพาน ประเภทใช้งานทั่วไป (General Use Conveyor Belt)


ผิวของสายพาน (Rubber Cover) แบบเรียบลอกออกมาให้ดู


1.มาตรฐานของ Cover Rubber สายพานทนสึก (Wear Resistance Conveyor Belt)

ขอเอาเรื่องราวบทก่อนๆมา ทบทวนเผื่อว่าบางท่านได้มาอ่านบทความนี้ก่อนจะได้เข้าใจเนื้อหาได้เลยไม่ต้องย้อนอ่านบทความก่อนหน้านี้ไปมา เริ่มด้วย สายพาน ประเภทใช้งานทั่วไป(General Use Conveyor Belt) หรือเรียกกันว่า สายพานทนสึก (Wear Resistance Conveyor Belt) เราจะเรียกว่าสายพานทนสึกเมื่อสายพานนั้นสามารถทนต่อ ความเสียหายที่เกิดจากผิวของสายพานสึกหรอ(Abrasion) และเสียหายจากการกระแทก(Impact)เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการ ทนร้อน(เกิน 80 องศาเซลเซียส) ทนน้ำมัน หรือทนสารเคมีต่างๆ สายพานทนสึก (Wear resistance belt)มีหลายเกรดซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป

สายพานทนสึก (Wear Resistance Conveyor Belt) ก็มีรูปร่างภายนอกสีดำๆอย่างที่เห็นทั่วๆไป เป็นสายพานที่ใช้กันมากที่สุดในประเทศไทยน่าจะ มากกว่า 80%ขึ้นไป หากเราแยกจะคุณภาพของสายพานโดยใช้ ตาดู หูฟังคงแยกไม่ออกและทำไม่ได้อย่างแน่นอน เอาเครื่องวัดความแข็งมาวัดก็ไม่ใช่วาระของเรื่องเกินกว่าเหตุ แต่ถ้าอยากรู้แยกความแตกต่างแบบบ้านๆต้องใช้เครื่องขัดผ้าทรายลองขัดดู ก็จะได้ความว่าถ้าเป็นเกรด M จะขัดผิวออกยากกว่าเกรด P อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีอะไรเป็นมาตรฐานจัดเกรดเอาไว้อ้างอิงกันบ้าง มาตรฐานผิวยางของสายพานทนสึก (Wear Resistance Conveyor Belt) มีการจัดเกรดจากหลายค่าย ทั้งค่าย ยุโรป อเมริกา(RMA) ญี่ปุ่น (JIS) ออสเตรเลีย (AS), ISO, South Africa แต่ที่อ้างอิงกันบ่อยๆคือ เป็นของ DIN จาก ประเทศเยอรมนี ดัชนีที่นำมากำหนดมีแค่ 3 ตัวคือ

 Min.elongation at break (%)

 Min.tensile strength  (N/mm2)  

 Max.wear loss (mm3)

แต่ละตัวมันมีค่ากำหนดยังไงกันบ้างดูรายละเอียดตามตารางข้างล่างได้เลยครับ


มาตรฐานของ Cover Rubber ของสายพานทนสึก(wear Resistance Belt)


ต้องหมายเหตุให้ทราบกันนิดหน่อยว่าที่ พูดกันทั่วเมืองไทยว่าผิวสายพานมี Grade M-N-P นั้น แต่เดิมเกรด M และเกรด N เป็นมาตรฐาน DIN ของเยอรมนี แต่ปัจจุบันเขาเลิกใช้ไปนานแล้ว (ใช้เกรด W-X-Y-Zแทน) แต่พวกเรายังอนุรักษ์ไว้อยู่ ดังนั้น Grade M-N-P ก็ยังฮิตในบ้านเราอยู่ ส่วนเกรด P ผู้เขียนยังหาที่มาที่ไปไม่ได้ ว่ามันเกิดอย่างไร รู้แต่ว่ามันมีชีวิตอยู่ดีในปัจจุบัน หากหาที่เกิดได้เมื่อไหร่จะรีบมาบอกต่อนะครับ สำหรับเกรด M-N-P ที่ใช้กันในประเทศไทยบางทีก็กำหนดกันขึ้นมาต่างจากมาตรฐานสากล เพื่อเป็น Fighting Brand สำหรับต่อสู้กันเองในสงครามราคา คุณภาพก็ตามราคาที่จ่าย ก่อนซื้อผู้ซื้อจะต้องสอบถามผู้ขายให้ดีว่าข้าดัชนีต่างๆมีค่าเท่าไหร่




มาตรฐานของ Cover Rubber จากค่าย เยรมัน ออสเตรเลีย และอเมริกา


จากตารางหลากหลายที่เห็นอยู่ข้างบน ไม่ว่าจะมาจากมาตรฐานไหนก็ตามจะเห็นว่ามีดัชนีสำคัญ 3 ตัว ที่นำมากำหนดมาตรฐานของ ผิวยางของสายพานทนสึก (Wear Resistance Conveyor Belt) คือ

 Min.elongation at break (%)

 Min.tensile strength  (N/mm2)  

 Max.wear loss (mm3)

แต่ละตัวเมื่อนำมาถอดรหัสและแปลความหมายแล้วมันเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อๆไป อย่ากระพริบตา

2.ดัชนีกำหนดมาตรฐานผิวยางของสายพานทนสึก (Wear Resistance Conveyor Belt)

ตอนนี้เรามาเข้าเรื่องการวัดคุณสมบัติของสายพานทนสึก (Wear Resistance Conveyor Belt) ว่าเขาเอาอะไรมาเป็นตัวกำหนดเกรดของสายพานกัน ถ้าหากเรารู้และเข้าใจค่าเหล่านี้ดี อย่างน้อยที่สุดก็สามารถเลือกซื้อสายพานได้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป หรือเอาเป็นความรู้มาสมัครงานที่ Conveyor Guide ก็ได้ การทดสอบหาคุณสมบัติของสายพานสรุปให้เข้าใจสั้นๆได้ดังต่อไปนี้

1.Min.Tensile Strength (N/mm2) คือการทดลองตาม ASTM D412 โดยเอาตัวอย่างที่มีเฉพาะผิว(Cover Rubber) มาตัดให้เป็นรูปร่างให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด แล้วเอาเข้าเครื่องมือดึงจนสายพานขาดออกจากกัน แล้วก็อ่านค่าแรงสูงสุดก่อนสายพานจะขาดว่าได้เท่าไหร่ ค่านี้แหละคือ ค่า Tensile Strength (N/mm2)ของสายพาน ดูรูปเครื่องมือข้างล่างนี้จะเห็นว่าสายพานคอดกิ่วเกือบจะขาดเต็มทีแล้วช่วงนี้แหละที่อ่านค่าแรงได้สูงสุด


เครื่องมือดึงเพื่อหาค่าTensile Strength ของ Cover Rubber


จะสังเกตจากตารางได้ว่าสายพานเกรด M, N, P จะมีค่า tensile strength (N/mm2) ไม่เท่ากัน เกรด M มากที่สุด เกรด N รองลงมาและเกรด P น้อยที่สุดดังนั้นค่า tensile strength (N/mm2) ตัวนี้จึงเป็นตัวชี้ว่าถ้ามีค่ามากสายพานจะมีคุณสมบัติดี ราคาแพง คงหายสงสัยกันแล้วว่าทำไมใครๆก็บอกว่าอยากได้สายพานเกรด M

2.Min.Elongation at break (%) คือความสามารถในการยืดตัวของยางโดยเอาตัวอย่างเฉพาะผิวยางของสายพาน(Cover) มาตัดให้เป็นรูปร่างให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ตัวอย่างนี้จะเล็กๆและบางๆเท่านั้น แล้วเอาเข้าเครื่องมือดึงจนผิวสายพานขาดออกจากกัน แล้วก็อ่านค่าแรงสูงสุดก่อนจะขาดและการยืดตัวว่าได้เท่าไหร่ ค่านี้แหละคือ ค่า Elongation at breakของผิวยาง Cover ดูรูปเครื่องมือข้างล่างนี้จะเห็นว่าตัวอย่างที่ถูกดึงจะคอดกิ่วเกือบจะขาดเต็มทีแล้วเช่นกันช่วงนี้แหละที่อ่านค่าแรงได้สูงสุดเช่นกัน จะสังเกตจากตารางได้ว่าสายพานเกรด M , N , P จะมีค่า Min.Elongation at break (%)ไม่เท่ากัน เกรด Mยืดได้มากที่สุด เกรด N รองลงมาและเกรด P ยืดได้น้อยที่สุดดังนั้นค่า Min.Elongation at break (%)ตัวนี้จึงเป็นตัวชี้ว่าถ้ามีค่ามาก สายพานจะมีคุณสมบัติดี ราคาแพง


เครื่องมือดึงเพื่อหาค่าTensile Strength ของ Cover Rubber


3.Max.wear loss (mm*3) วิธีการหาค่าทำโดยเอาตัวอย่างเฉพาะผิวสายพานสายพาน(Cover Rubber) มาตัดให้เป็นรูปร่างให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ตัวอย่างที่ใช้ทดลองนี้นี้มีรูปร่างคล้ายๆลูกเต๋า ใช้เครื่องมือจับตัวอย่างไว้ให้แน่น แล้วหมุนลูกกลิ้งที่หุ้มด้วยกระดาษทรายที่มีความหยาบมาตรฐานไปขัดถูกับตัวอย่างด้วยความเร็วและเวลาที่กำหนด เมื่อหมดเวลาก็หยุดเครื่อง นำตัวอย่างไปหาค่าปริมาตร(Volume) ของยางตัวอย่างที่หายไป โดยอ่านค่าน้ำหนักที่หายไปได้เท่าไหร่แล้วแปลงกลับเป็นปริมาตรที่หายไป ค่านี้แหละคือ Wear Loss (mm*3) มีหน่วยเป็นลูกบาศก์มิลลิเมตร ดูรูปตามเครื่องมือข้างล่างนี้


เครื่องมือวัด Wear loss (mm*3) ของยาง


จะสังเกตจากตารางได้ว่าสายพานเกรด M , N , P จะมีค่า wear loss (mm3) ไม่เท่ากัน เกรด M น้อยที่สุด เกรด N รองลงมาและเกรด P มากที่สุดดังนั้นค่า wear loss (mm3) ตัวนี้จึงเป็นตัวชี้ว่าถ้ามีค่าน้อยสายพานจะมีคุณสมบัติดี เพราะขัดสีแล้วยางหลุดออกน้อยแสดงว่าทนสึกหรอได้สูง ราคาจะแพง ซึ่งเป็นหนังคนละม้วนกับค่า Tensile Strength (N/mm2) และ Elongation at Break (%) ที่ค่ามากยิ่งดี

2.การทดสอบอื่นๆของสายพานทนสึก (Wear Resistance Conveyor Belt) อีกสองเรื่องการทดสอบข้างล่างนี้ถือว่าเป็นของแถมจาก Conveyor Guide ให้กับแฟนๆก็แล้วกันนะครับ

1. Bonding strength จากรูปเป็นการทดลองตามมาตรฐาน ASTM D378 หาค่าแรงยึดเกาะระหว่างยาง Cover กับผ้าใบ(Cover to Ply) และผ้าใบกับผ้าใบ(Ply to Ply) เป็นการหาค่าBonding strength (N/mm) ดีๆนี่เองโดยการเอาตัวอย่างสายพาน(มีผ้าใบข้างในด้วย) มาตัดให้เป็นรูปร่างให้เข้าตามมาตรฐานที่กำหนด แล้วเอาเข้าเครื่องมือดึงจนCover หลุดออกจากผ้าใบ(Fabric) หรือดึงให้ ผ้าใบหลุดออกผ้าใบ(กรณีมีผ้าใบหลายชั้น) แล้วก็อ่านค่าแรงสูงสุดก่อนหลุดว่าได้เท่าไหร่ ค่านี้แหละคือ ค่าแรงยึดเกาะหรือ Bonding strength (N/mm) จะสังเกตจากตารางได้ว่าค่าแรงยึดเกาะระหว่างยาง Cover กับผ้าใบ(Cover to Ply) และ ผ้าใบกับผ้าใบ(Ply to Ply) ในสายพานเกรด M , N , P หรือเทียบได้กับเกรด X,Y,Z ของระบบ DIN จะมีค่า Bonding strength (N/mm)เท่ากัน


เครื่องทดสอบหาค่า Bonding Strength ของสายพาน


2. ความแข็ง(Hardness) ปกติแล้วสายพานจะมีความแข็ง 65 Shore A (บวกลบ 5) เพื่อให้สายพานสามารถมี Flexibility เข้ารูปแอ่ง(Trough)ของลูกกลิ้งได้อย่างพอดี แต่เมื่อใช้สายพานนานไปสายพานจะเริ่มแข็งขึ้น( 80 หรือ 90 Shore A ) สายพานจะแข็งเข้ารูปแอ่ง(Trough)ของลูกกลิ้งได้ยาก ดังนั้นจำเป็นจะต้องวัดความแข็งของสายพานเพื่อให้รู้ว่าสายพานควรจะเปลี่ยนแล้วหรือยัง


เครื่องมือวัดความแข็งของยาง มีหน่วยเป็น Shore A



ค่าทดสอบต่างๆจะรายงานออกมาด้วยระบบ Computer


สายพานเกรด M (DIN-X,RMA Grade1, AS 1332-M24) ทำด้วย ยางธรรมชาติ(Natural Rubber ) หรือ ยางสังเคราะห(Synthetic Rubber)หรือเอาทั้งสองอย่างมาผสมกัน(Blend) มีคุณสมบัติทนการขัดสี (Abrasion) ได้ดี-ดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังมีมีคุณสมบัติ ทนการตัด(Cut) การฉีก (Tear) การเจาะ (Gouge)และการขัดสี (Abrasion) ได้ดีมาก

สายพานเกรด N(DIN-Y,RMA Grade2, AS 1332-N17) ทำด้วย ยางธรรมชาติ(Natural Rubber ) หรือ ยางสังเคราะห(Synthetic Rubber) หรือเอาทั้งสองอย่างมาผสมกัน(Blend)เหมือนกัน มีคุณสมบัติทนการขัดสี (Abrasion) ได้ดี ส่วนการทนทานต่อการตัด(Cut) การฉีก (Tear) การเจาะ (Gouge)และการขัดสี (Abrasion) ได้ดีรองลงมาไม่เท่ากับเกรด M ใครจะเลือกใช้เกรดอะไรก็ต้องใช้ความรู้พิจารณาเอาเองให้เหมาะสมกับApplication ของตัวเอง

• ขอจบบทความตอนนี้เอาไว้แค่นี้ก่อน แต่ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ไม่สามารถนำมาเสนอได้ในเวลานี้ หากท่านที่ติดตาม ต้องการความรู้อะไรเพิ่มเติมสอบถามได้เลยนะครับไม่ต้องเกรงใจ เราไม่เน้นขายของอะไรมากมาย อยากให้ท่านมีความรู้แล้วตัดสินใจได้เองได้ของที่คุ้มค่าเงิน ถ้าเห็นว่าเราทำดี จะอุดหนุนให้เราอยู่รอดได้ก็เป็นพระคุณอย่างสูงเราเชื่อว่า ลูกค้าที่มีความรู้จะเป็นศูนย์กลางของธุรกิจเรา แม้จะไม่ได้สร้างผลกำไรก้อนโตให้กับเราทันทีแต่ก็จะเป็นรากฐานที่ค่อยๆ ให้เราสะสมความสำเร็จไปทีละน้อย และการบอกต่อของท่านให้คนรอบข้าง ก็จะช่วยขยายฐานให้กับเราได้อีกในอนาคตแน่นอน ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม Website ของเรา


Visitors: 78,181